ไฟย้อนกลับในงานเชื่อมและตัดโลหะด้วยก๊าซ

Safety Engineer for JorPor Series EP.3

  • Screenshot_2020-07-21 OHSWA Meet the Professional SE EP3 Flashback Arrestor pdf.png

เผยแพร่เมื่อ: 22/07/2563....,
เขียนโดย คุณวุฒินันทน์ ปัทมวิสุทธิ์
กรรมการสาขาวิศวกรรมความปลอดภัย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.)
รองประธานอนุกรรมการเทคโนโลยีไฟฟ้าและเครื่องจักรกล สมาคมส่งเสริมความปลอดภัยและอนามัยในการทำงาน (ประเทศไทย) ในพระราชูปถัมภ์
อุปนายก สมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร (BSA)

 

 

  ไฟย้อนกลับในงานเชื่อมและตัดโลหะด้วยก๊าซ
อันตรายและการป้องกัน

 

     การเกิดไฟย้อนกลับ (Flashback) คืออะไร ?

          Flashback เป็นปรากฏการณ์ที่เปลวไฟย้อนกลับจากหัวเชื่อม/ตัด (Torch) ย้อนกลับผ่านสายจ่ายก๊าซ ซึ่งจัดว่ามีอันตรายอย่างยิ่ง ซึ่งเปลวไฟดังกล่าวสามารถทำให้สายจ่ายก๊าซระเบิด และถ้าผ่านชุดควบคุมแรงดันก๊าซ (Gas Pressure Regulator) ไปยังถังก๊าซ จะส่งผลให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรง

          ความเร็วของเปลวไฟ ขณะเกิดไฟย้อนกลับจะเร็วมาก โดยความเร็วของเปลวไฟอาจสูงถึง 5 เท่าของความเร็วเสียงหรือประมาณ 1,700เมตร/วินาที ทีเดียว

ภาพ: การเชื่อมและตัดโลหะด้วยก๊าซ

 

     สาเหตุการเกิดไฟย้อนกลับ (Flashback) 

  • การประกอบหัวเชื่อม/ตัดก๊าซ (Torch) ไม่ถูกต้อง
  • การระบายก๊าซที่ค้างอยู่ในสายจ่ายแก๊สและหัวเชื่อม/ตัดก๊าซ ก่อนการเชื่อมไม่ถูกต้อง
  • ความดันใช้งานของก๊าซเชื้อเพลิงและก๊าซออกซิเจนไม่เหมาะสม
  • ทางเดินของก๊าซในหัวเชื่อม/ตัดก๊าซเกิดการอุดตัน
  • สายจ่ายก๊าซชำรุดหรือรั่วไหล
  • เลือกใช้หัว Tip ของหัวเชื่อม/ตัดก๊าซไม่เหมาะสม
  • การควบคุมระยะห่างของหัว Tip กับชิ้นงานที่เชื่อมไม่เหมาะสม
  • เกิดการรั่วของก๊าซที่ชุดปรับแรงดันก๊าซ (Gas Pressure Regulator), สายจ่ายก๊าซ หรือ ข้อต่อมีผลทำให้ความดันลดลง ก๊าซที่ความดันสูงจึงไหลย้อนกลับไปยังอีกด้านหนึ่งได้

 

 

ภาพ: การต่ออุปกรณ์ป้องกันไฟย้อนกลับที่ชุดปรับแรงดันก๊าซ

 

     การป้องกันไฟย้อนกลับ (Flashback Protection) 

          อุปกรณ์ป้องกันไฟย้อนกลับ (Flashback Arrestor) คืออุปกรณ์ด้านความปลอดภัยสำหรับงานเชื่อมและตัดด้วยก๊าซที่ใช้งานกันอย่างแพร่หลาย ในงานเชื่อมและตัดด้วยก๊าซก๊าซเชื้อเพลิงกับก๊าซออกซิเจน ที่เรียกว่า Oxy-Fuel Welding and Cutting  อุปกรณ์ชนิดนี้จะช่วยป้องกันความเสียหายหรือการระเบิด รวมทั้งช่วยป้องกันอันตรายในพื้นที่ปฏิบัติงานเชื่อมและดัดด้วยก๊าซได้เป็นอย่างดี

          โดยทั่วไป การติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันไฟย้อนกลับ (Flashback Arrestors) ต้องติดตั้งที่ ชุดอุปกรณ์การเชื่อมก๊าซทั้ง 4 จุด ดังนี้ ซึ่งจะสอดคล้องกับคำแนะนำโดย สำหรักเทคโนโลยีความปลอดภัย กรมโรงงานอุตสาหกรรม คือ

  • ด้านจ่ายของชุดปรับแรงดันก๊าซออกซิเจน(Oxygen Pressure Regulator)
  • ด้านจ่ายของชุดปรับแรงดันก๊าซเชื้อเพลิง (Fuel Gas Pressure Regulator)
  • ด้านหัวเชื่อม/ตัดก๊าซ(Torch) ที่ต่อกับสายจ่ายออกซิเจน
  • ด้านหัวเชื่อม/ตัดก๊าซ(Torch)  ที่ต่อกับสายจ่ายก๊าซเชื้อเพลิง

ภาพ: การติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันไฟย้อนกลับ

 

     ชนิดของอุปกรณ์ป้องกันไฟย้อนกลับ

          ชนิดเปียก (Wet Type) - เดิมมีการใช้อุปกรณ์ป้องกันไฟย้อนกลับแบบชนิดเปียก โดยใช้น้ำเป็นตัวกลางในการดับเปลวไฟที่เกิดขึ้น แต่เนื่องจากมีข้อจำกัดในด้านทิศทางการทำงาน ที่ไม่สามารถใช้งานได้ในบางลักษณะการทำงานเนื่องจากปัญหาระดับของน้ำและขนาดที่ใหญ่ จึงเหมาะสมสำหรับงานติดตั้งแบบอยู่กับที่เป็นหลัก

          ชนิดแห้ง (Dry Type) – เป็นอุปกรณ์ป้องกันไฟย้อนกลับที่ใช้งานกันโดยทั่วไปในปัจจุบัน โดยมีองค์ประกอบหลักด้านความปลอดภัยเพื่อหยุดยั้งเปลวไฟย้อนกลับและการไหลย้อนกลับของก๊าซ อุปกรณ์ชนิดนี้สามารใช้ได้ในทุกทิศทางและต้องการการบำรุงรักษาน้อยมาก ในหลายประเทศมีการกำหนดให้ติดตั้งที่ด้านจ่ายของอุปกรณ์ปรับแรงดันก๊าซ (Gas Regulator) รวมทั้งอาจมีข้อกำหนดเพิ่มเติมให้ติดตั้งเพิ่มเติมที่ชุดหัวเชื่อม/ตัด

ภาพ: ตัวอย่างอุปกรณ์ป้องกันไฟย้อนกลับ

 

     องค์ประกอบและลักษณะการทำงานของอุปกรณ์ป้องกันไฟย้อนกลับ

          ตามมาตรฐาน DIN EN ISO 5175-1 กำหนดให้มีอย่างน้อย 2 องค์ประกอบและมีลักษณะการทำงานดังนี้

  • วาล์วกันย้อน (Non-return Valve: NV)
    - ช่วยป้องกันการผสมของก๊าซเชื้อเพลิงและออกซิเจนที่อาจเป็นอันตราย
    ช่วยควบคุมทิศทางการไหลของก๊าซไปในทิศทางที่ถูกต้อง
  • ชุดป้องกันเปลวไฟ (Flame Arrestor: FA)
    ช่วยลดอุณหภูมิเปลวไฟให้ต่ำกว่าอุณหภูมิจุดติดไฟของก๊าซเชื้อเพลิงหรือส่วนผสมของก๊าซ
    ป้องกันไฟย้อนกลับ

 

          นอกจากนี้ ในอุปกรณ์ป้องกันไฟย้อนกลับบางรุ่น อาจมีองค์ประกอบเพิ่มเติม เช่น

  • วาล์ตัดความร้อน (Thermal Cut-off Valve: TV)
    ช่วยป้องกันอุณหภูมิสูงเกินกำหนด
    ช่วยปิดวาล์วตัดการไหลของก๊าซเมื่ออุณหภูมิถึงค่าที่กำหนด ก่อนไปถึงอุณหภูมิจุดติดไฟของก๊าซเชื้อเพลิงหรือส่วนผสมของก๊าซ
  • ชุดตัดความดัน (Pressure-sensitive Gas Cut-off Valve: PA)
    ช่วยปิดวาล์วตัดการไหลของก๊าซเมื่อเกิดความดันสูงผิดปกติ หรือ Pressure Shock

ภาพ: องค์ประกอบของอุปกรณ์ป้องกันไฟย้อนกลับ

 

ภาพ: การติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันไฟย้อนกลับและองค์ประกอบที่จำเป็น

 

     ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับอุปกรณ์ป้องกันไฟย้อนกลับ

  • ให้ติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันไฟย้อนกลับ (Flashback Arrestors) ที่อุปกรณ์ที่ใช้สำหรับเชื่อมก๊าซทุกชุดและมีการตรวจสอบสภาพให้สามารถใช้งานได้ดีอยู่เสมอ
  • เลือกใช้อุปกรณ์ป้องกันไฟย้อนกลับ (Flashback Arrestors) ที่มีการรับรองตามมาตรฐาน
  • ตรวจสอบและทดสอบสภาพการทำงานของอุปกรณ์ป้องกันไฟย้อนกลับ ตามระยะเวลาที่ผู้ผลิตกำหนด หรืออย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
  • อุปกรณ์ป้องกันไฟย้อนกลับที่ผ่านการใช้งานต้องเปลี่ยนใหม่อย่างน้อยทุก ๆ 5 ปี
  • นอกจากนี้ ผู้ปฏิบัติงานยังคงต้องปฏิบัติตามกฎข้อบังคับในการทำงานเชื่อมก๊าซอย่างปลอดภัย (Work Instruction) รวมทั้งให้มีการขออนุญาตทำงาน (Permit to Work) โดยเคร่งครัด

ภาพ: เครื่องทดสอบอุปกรณ์ป้องกันไฟย้อนกลับ

 

     บทส่งท้าย: งานเชื่อมและตัดด้วยก๊าซแบบ Oxy-Fuel

          งานเชื่อมและตัดด้วยก๊าซแบบ Oxy-Fuel ประกอบด้วย ถังก๊าซเชื้อเพลิง ร่วมกับถังก๊าซออกซิเจน (Oxygen) ทำให้สามารถเพิ่มอุณหภูมิของเปลวไฟที่หัวเชื่อมหรือตัดได้สูง ก๊าซเชื้อเพลิงที่นิยมใช้งาน เช่น ก๊าซอะเซทิลีน (Acetylene), ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG), ก๊าซไฮโดรเจน (Hydrogen) เป็นต้น ตามปกติเปลวไฟจากการเผาไหม้โพรเพน (Propane – ส่วนผสมหลักในก๊าซ LPG) กับอากาศจะให้อุณหภูมิราว 1,980 OC แต่เปลวไฟจากโพรเพนกับออกซิเจนจะให้อุณหภูมิสูงถึง 2,253 OC และอุณหภูมิเปลวไฟจากไฮโดรเจนกับออกซิเจน จะให้อุณหภูมิสูงถึง 3,500 OC ทีเดียว

ภาพ: เครื่องทดสอบอุปกรณ์ป้องกันไฟย้อนกลับ

 

References

Visitors: 420,723